วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระสำคัญ

1. การใช้วัสดุฉายกับเครื่องฉายแต่ละชนิด มีลักษณะการใช้แตกต่างกัน ตามระบบของ การฉาย และขนาดของวัสดุฉาย
2. เครื่องฉายสไลด์ และเครื่องฉายฟิล์มสตริป สามารถใช้เครื่องฉายเดียวกันได้ และ ทำจากวัสดุประเภทเดียวกัน แต่กระบวนการผลิตและการใช้ต่างกัน
3. เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป สามารถนำมาใช้ประกอบการสอน โดยใช้นำเข้าสู่ บทเรียนสอน สรุปบทเรียน การสร้างสถานการณ์การเรียนการสอน ตลอดจนให้ผู้เรียนศึกษาเป็นรายบุคคลด้วยตนเองได้
4. การใส่วัสดุฉายกับเครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริปให้ถูกต้อง นั้นผู้ใช้ควรศึกษาจาก ลักษณะของวัสดุฉาย กับระบบการฉาย เพื่อให้ภาพปรากฏบนจอภาพได้ถูกต้อง
5. เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เป็นเครื่องฉายระบบอ้อม ที่มีส่วนประกอบไม่ซับซ้อน สามารถใช้ประกอบการอธิบายหน้าชั้นเรียนได้สะดวก และง่ายกว่าเครื่องฉายประเภทอื่น
6. การใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ โดยใช้แผ่นโปร่งใส มีวิธีการทำให้การนำเสนอข้อความ และเนื้อหา น่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการนำเสนอและเทคนิคในการผลิตแผ่นโปร่งใส
7. การใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณ ภาพของเครื่องมือ และวัสดุฉาย แต่ยังต้องใช้เทคนิคของผู้ใช้และการบำรุงรักษาเครื่องฉายที่ถูกต้องด้วย
8. เครื่องฉายภาพทึบแสง เป็นเครื่องฉายระบบฉายสะท้อน ที่ใช้ได้ดีกับวัสดุทึบแสง โดยต้องใช้กำลังส่องสว่างของหลอดฉายมากกว่าเครื่องฉายประเภทอื่น รวมทั้งสถานที่ใช้ต้องเป็นห้องฉายเฉพาะ โดยมีองค์ประกอบเครื่องฉาย วิธีการใช้ และการบำรุงรักษาใกล้เคียงกันกับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ

จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม

1. อธิบายลักษณะของเครื่องฉาย และขนาดวัสดุฉาย ที่ใช้กับเครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริปได้
2. อธิบายวิธีการผลิตสไลด์ และฟิล์มสตริปได้
3. เปรียบเทียบความแตกต่างของการใช้สไลด์และฟิล์มสตริปได้
4. บอกวิธีการใส่วัสดุฉายลงในเครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริปได้
5. อธิบายส่วนประกอบของเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ
6. อธิบายเทคนิคการใช้เครื่องฉาย การผลิตแผ่นใสวิธีง่าย ๆ และการนำเสนอแผ่นใสที่น่าสนใจได้
7. บอกข้อเสนอแนะในการใช้เครื่องฉายข้ามศีรษะได้
8. อธิบายลักษณะการทำงานเครื่องฉายภาพทึบแสง บอกส่วนประกอบ และวิธีการใช้ได้ถูกต้อง

วัสดุฉายกับเครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป

เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป เป็นเครื่องฉายระบบฉายตรง (Direct Projection System) บางครั้งสามารถฉายได้ทั้งสไลด์และฟิล์มสตริปในเครื่องเดียวกันคือเป็นแบบผสม (Combination Projector) เพียงแต่เปลี่ยนหลักใส่ฟิล์ม (Carrier) ซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนได้ บางครั้งใช้สำหรับฉายสไลด์ได้เพียงอย่างเดียว หรือฟิล์มสตริปได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


แผนภาพที่ 21 เครื่องฉายสไลด์
8.1.1 วัสดุฉายของเครื่องฉายสไลด์ และฟิล์มสตริป สไลด์ เป็นแผ่นภาพโปร่งแสงที่มีภาพบันทึกอยู่บนฟิล์ม หรือเขียนลงบนกระจก เป็นแผ่น ๆ หรือเป็นกรอบ มีทั้งชนิดขาว-ดำและสี ใช้ประกอบการเรียนการสอน เวลาใช้สอนครูอาจอธิบายประกอบการฉาย หรือบันทึกเสียงแล้วนำไปเปิดบรรยายขณะฉายประกอบการสอนได้ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มสไลด์มีหลายขนาด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 2 ขนาด คือ
1) ขนาด 2x2 นิ้ว (Two by Two Slide) สไลด์ขนาดนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสไลด์ ขนาด 35 มม. ซึ่งใช้กับกล้องถ่ายภาพขนาด 35 มม. แล้วนำมาผนึกเข้ากับกรอบสไลด์ เครื่องฉายโดยทั่วไปใกล้กับสไลด์ขนาดนี้เป็นนิยมใช้ทั่วไปในวงการศึกษา
2) ขนาด x4 นิ้ว หรือสไลด์กระจก (Lantern Slide) สไลด์ขนาดนี้ค่อนข้างใหญ่ ทำได้ง่าย ๆ จากการเขียนหรือวาดบนแผ่นกระจกใส หรือแผ่นอาซิเตท (Acetate) โดยใช้กระจกใสบาง ๆ 2 แผ่นต่อ 1 ภาพ นำกระจกใสแผ่นหนึ่งมาทาสีพลาสติกใช้ดินสอร่างรูปหรือข้อความลงไป แล้วใช้เหล็กแหลมสำหรับเขียนกระดาษไข ขูดสีตามเส้นดินสอที่ร่างไว้ นำกระจกอีกแผ่นหนึ่งมาประกบด้านที่ทาสีเพื่อไม่ให้สีหลุดออก แล้วหุ้มกรอบด้วยเทปกาวให้เรียบร้อย ส่วนที่ขูดสีออกจะไปปรากฎเป็นข้อความหรือภาพบนจอสีขาวพื้นดำ ถ้าต้องการให้มีสีให้ใช้กระดาษแก้วสีต่าง ๆ วางทับบนข้อความก่อนจะนำกระจกอีกแผ่นหนึ่งมาประกอบ สไลด์ขนาดนี้ฉายได้เฉพาะแนวนอนเท่านั้น ปัจจุบันไม่นิยมใช้ในวงการศึกษา เพราะใช้กับเครื่องฉายขนาดใหญ่ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาจะมีใช้ตามโรงภาพยนตร์ซึ่งฉายสไลด์โฆษณา สินค้าต่าง ๆฟิล์มสตริป ฟิล์มสตริปเป็นฟิล์มชนิดเดียวกับฟิล์มสไลด์ 35 มม. ต่างกันตรงที่ฟิล์ม สตริป เมื่อถ่ายทำแล้วนำไปล้าง ไม่ต้องตัดออกเป็นภาพ ๆ ไม่ต้องผนึกเข้ากรอบ ใช้ฉายเป็นม้วนโดยเรียงลำดับจากภาพแรกถึงภาพสุดท้าย กล่าวโดยสรุปก็คือ ฟิล์มสไลด์ใช้ฉายเป็นแผ่น ฟิล์มสตริปใช้ฉายเป็นม้วน
ฟิล์มสตริปมี 2 ขนาด คือ
1) ขนาดกรอบภาพคู่ (Double Frame or Full Frame) ฟิล์มสตริปชนิดนี้ มีขนาด 1x1นิ้วครึ่ง นิ้ว ลำดับถ่ายภาพหรือถ่ายตามแนวนอนตลอดม้วน การฉายต้องฉายตามแนวนอนเช่นกัน ฟิล์มสตริปขนาดนี้เป็นขนาดเดียวกับสไลด์นั่นเอง
2) ขนาดกรอบภาพเดี่ยวหรือครึ่งกรอบภาพ (Single Frame or Half Frame) มีขนาดเป็นครึ่งหนึ่งของขนาดกรอบภาพคู่ คือมีขนาด 1x1/2นิ้ว ลำดับภาพหรือถ่ายทำตามแนวตั้ง การฉายต้องฉายตามแนวตั้งเช่นกัน

ข้อแตกต่างระหว่างสไลด์กับฟิล์มสตริป

เนื่องจากสไลด์และฟิล์มสตริปมีลักษณะคล้ายคลึงกัน การผลิตการใช้ก็มีหลักการทั่ว ๆ ไปเช่นเดียวกัน เครื่องฉายมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกัน บางเครื่องรวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน แต่มีข้อแตกต่างกันบ้าง ดังต่อไปนี้ระหว่าง

สไลด์
-ฟิล์มสตริป
1. ภาพไม่เรียงลำดับ ฉายภาพใดก่อนหลังก็ได้
- ภาพเรียงลำดับตายตัว ต้องฉายตั้งแต่ภาพแรกจนถึงภาพสุดท้าย

2. การเปลี่ยนภาพเลื่อนเข้าออกตามแนวตั้ง หรือแนวนอนมีกรอบหุ้ม ชำรุดเสียหายยาก
- การเปลี่ยนภาพอาศัยเฟืองหนามเตยดึงรูหนามเตย ถ้าร้อยฟิล์มไม่ถูกต้อง รูหนามเตย อาจฉีกขาด ชำรุดเสียหายได้ง่าย

3. ภาพใดชำรุดเสียหาย หรือเนื้อหาล้าสมัย เปลี่ยนหรือเพิ่มเติมเฉพาะภาพได้
- ภาพใดชำรุดเสียหาย หรือเนื้อหาบางตอนล้าสมัย ต้องเปลี่ยนทั้งม้วน

4. ไม่มีคำบรรยายใต้ภาพ ใช้เสียงบรรยาย
- มีคำบรรยายใต้ภาพ นักเรียนอาจสนใจภาพน้อยลง เพราะมัวแต่อ่านคำบรรยาย

5. ถ่ายและฉายได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ขึ้นอยู่กับการประกอบภาพ
- ถ่ายและฉายได้แนวเดียวตลอดม้วนชนิดกรอบภาพคู่ฉายตามแนวนอน และชนิดกรอบภาพเดี่ยวฉายตามแนวตั้ง

6. เวลา จะฉายต้องใส่สไลด์เข้าเครื่องทีละภาพ ทำให้เสียเวลา
- ใส่ฟิล์มเข้าเครื่องฉายครั้งเดียวฉายได้ตลอดม้วน

7. มีกรอบหุ้มจับถือสะดวก ไม่ค่อยถูกขีดข่วน
- ไม่มีกรอบหุ้ม จับถือไม่สะดวก เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย

คุณค่าของสไลด์และฟิล์มสตริปที่มีต่อการเรียนการสอน

1. ช่วยนักเรียนให้ศึกษาด้วยตนเองหรือพร้อมกันทั้งชั้น
2. ใช้แทนหรือลดขนาดของอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แผนที่ ของจริง ป้ายนิเทศ เป็นต้น
3. เพื่อเป็นหลักฐานให้เกิดความเข้าใจในสัญลักษณ์ต่าง ๆ
4. ใช้ทบทวนหรือสรุปบทเรียน
5. เป็นศูนย์รวมความสนใจของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนเรื่องต่อไป
6. ใช้ฉายเพื่อสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้อภิปรายหรือค้นคว้าหาความรู้ต่อไป

วิธีใช้วัสดุฉายและเครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป

8.1.4 การใส่สไลด์ในเครื่องฉาย วิธีใส่สไลด์เพื่อให้ฉายได้อย่างถูกต้องมี 3 วิธีคือ

วิธีที่ 1 จับกรอบสไลด์ขึ้นส่องดู หันด้านมันของฟิล์มเข้าหาตัวหรือเข้าหลอดฉายให้ด้านตรงข้ามซึ่งเป็นด้านด้าน (ด้านฉาบเยื่อไวแสง) หันเข้าหาจอ แล้วใส่กลับหัวลงในที่ใส่สไลด์หรือในเครื่องฉาย (วิธีนี้ดูยากเพราะด้านมันและด้านด้านของฟิล์มสไลด์มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก)

วิธีที่2 จับกรอบสไลด์ขึ้นส่องดู ให้เห็นด้านที่ภาพถูกต้อง หรือถ้ามีตัวหนังสือในฟิล์มจะต้องอ่านหนังสือออก ด้านนี้คือด้านมันนั่นเอง หันด้านที่เห็นภาพถูกต้องและอ่านตัวหนังสือออกนี้เข้าหาตัวหรือหลอดฉาย โดยหันด้านตรงข้ามเข้าหาจอ แล้วใส่กลับหัวลงไป

วิธีที่ 3 จับกรอบสไลด์ส่องดูด้านข้างระดับสายตา สังเกตที่ผิวฟิล์ม ให้ดูความโค้งของผิวฟิล์ม ด้านที่ผิวฟิล์มนูนออก คือด้านมัน (วิธีที่ 1) และคือด้านที่เห็นภาพถูกต้องและอ่านหนังสือออก (วิธีที่ 2) ให้หันด้านนี้เข้าหาตัวหรือหลอดฉาย ส่วนด้านเว้าให้หันเข้าหาจอแล้วใส่กลับหัวลงไป

เพื่อความสะดวกสำหรับการใส่สไลด์คราวต่อไป ควรทำเครื่องหมาย ไว้ที่กรอบตรงมุมล่างซ้าย ซึ่งเรียกว่าเครื่องหมายนี้ว่า รอยหัวแม่มือ (Thumb Spot) เพราะเวลาจะใส่สไลด์หัวแม่มือจะแตะที่เครื่องหมายนี้ หรือจะทำเป็นเครื่องหมายลูกศรหรือจะเขียนตัวเองเรียงลำดับภาพ สไลด์ก็ย่อมทำได้ เวลาใส่สไลด์เข้าเครื่องฉาย ภาพจะกลับหัวลง เครื่องหมายที่ทำไว้จะอยู่มุมขวา ด้านบนและหันเข้าหาหลอดฉาย

8.1.5 วิธีใส่ฟิล์มสตริปเข้าเครื่องฉาย การร้อยฟิล์มสตริปเข้าเครื่องฉาย ควรปฏิบัติดังนี้ ฟิล์มสตริปแบบกรอบภาพเดี่ยว (Single Frame)

1) ดึงม้วนฟิล์มออกดู (จับเฉพาะขอบฟิล์ม) จับฟิล์มให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง คือ ด้านอ่านหนังสือออกแล้วใส่ต้นฟิล์มหรือหัวเรื่องเข้าไปในเครื่องฉาย เหมือนกับสไลด์ คือหันด้านอ่านหนังสือออกเข้าหาหลอดฉาย (ด้านนี้คือด้านมันหรือด้านโค้งออกนั่นเอง) แล้วใส่หัวกลับลงการสังเกตด้านของฟิล์มสตริปง่ายกว่าสไลด์ เพราะมีตัวหนังสือโตพอที่จะสังเกตได้ชัดเจน โดยเฉพาะตอนต้นฟิล์ม ซึ่งก่อนจะถึงชื่อเรื่อง จะมีคำว่า โฟกัส หรือ FOCUS ให้สังเกตเห็นได้ง่าย
2) หมุนปุ่ม เพื่อให้ม้วนฟิล์มเข้าล้อเก็บฟิล์มด้านล่าง ถ้าเครื่องฉายมีเฟืองหนามเตย (Spocket) ต้องร้อยฟิล์มให้รูหนามเตยเข้าเฟืองหนามเตย มิฉะนั้นจะทำให้รูหนามเตยฉีกขาดได้เวลาเปลี่ยนภาพ เมื่อใส่เข้าที่เรียบร้อย ทดลองฉายดูเพื่อปรับแต่งกรอบภาพให้พอดีกับประตูฟิล์ม และปรับความชัดที่จอ ฟิล์มสตริปแบบกรอบภาพคู่ (Double Frame) ฟิล์มสตริปนี้มีวิธีใส่เหมือนกับชนิดกรอบภาพเดี่ยว ต่างกันตรงที่ชนิดกรอบภาพเดี่ยวฉายตามแนวตั้งจากบนลงล่าง ส่วนชนิดกรอบภาพคู่ ฉายตามแนวนอนจากซ้ายไปขวา เครื่องฉายบางชนิดได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน คือฉายได้ทั้งชนิดกรอบภาพเดี่ยวและกรอบภาพคู่เพียงแต่หมุนกลักที่ใส่ฟิล์มตามต้องการ เครื่องฉายฟิล์มสตริปส่วนมากเป็นชนิดกรอบภาพเดี่ยว การร้อยฟิล์มสตริปบางเครื่องอาจแตกต่างกันไป คือบางเครื่องที่มีระบบอัตโนมัติ ร้อยฟิล์มได้เอง การบังคับภาพให้เลื่อนก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ร้อยฟิล์มได้เอง การบังคับภาพให้เลื่อนก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ขอให้ศึกษาจากคู่มือที่ติดมากับเครื่องฉายประกอบด้วย เพื่อให้การใช้เป็นไปด้วยความรอบคอบ แต่ที่เหมือนกันทุกเครื่อง คือ จะต้องใส่กลับหัว โดยหันด้านที่อ่านหนังสือออกเข้าหาหลอดฉายเสมอ

8.1.6 วิธีใช้เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป การใช้เครื่องฉายสไลด์และฟิล์มสตริป ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ใส่สไลด์หรือฟิล์มสตริปลงไปในที่ใส่ฟิล์มให้ถูกต้องและเรียบร้อย แล้วนำไปใส่กับเครื่องฉาย
2) เปิดสวิทซ์พัดลมและหลอดฉาย และให้ตรวจดูว่า พัดลมหมุนหรือไม่ ถ้าพัดลมไม่หนุนต้องแก้ไขให้เรียบร้อย
3) ปรับความชัดของภาพ โดยหมุนที่เลนส์ฉาย หรือปุ่มบังคับเลนส์
4) เปลี่ยนภาพและบรรยายประกอบตามต้องการ ถ้าใช้เทปประกอบการบรรยายให้เปิดเทปด้วย ถ้าเป็นเทปซิงโครไนซ์ ต้องต่อสายสัญญาณออกของเครื่องเทป (Out Put) เข้ากับช่องต่อสายบังคับการเปลี่ยนภาพ (Remote Control) ให้เรียบร้อย
5) ขณะทำการฉาย การควบคุมการทำงานของเครื่อง เครื่องบางชนิด การเปลี่ยนสไลด์แต่ละภาพอาจจะติดขัด โดยเฉพาะเครื่องที่ภาพสไลด์ผ่านเข้าออกประตูฟิล์มในแนวซ้ายขวา จะได้แก้ไขได้ทันที
6) เมื่อฉายจบ เอาที่ใส่สไลด์หรือฟิล์มสตริปออกจากเครื่องฉาย และปิดหลอดฉาย
7) รอจนเครื่องฉายหรือหลอดฉายเย็น จึงปิดสวิทซ์พัดลม
8) ถอดปลั๊กไฟ เก็บเครื่อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย

เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะและคุณสมบัติเฉพาะ

8.2.1 ลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ หรือบางทีเรียกว่า เครื่องฉายภาพโปร่งใส เพราะวัสดุฉาย เป็นแผ่นโปร่งใส (Transparency) หรืออาจเรียกว่า กระดานชอล์กไฟฟ้าเพราะใช้แทนกระดานชอล์กได้ เป็นเครื่องฉายที่จัดอยู่ในระบบฉายอ้อม ใช้สำหรับฉายภาพ วัสดุ หรือเครื่องมือที่โปร่งใส โดยเขียนข้อความหรือวาดภาพบนแผ่นโปร่งใส ซึ่งอาจจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แล้วนำมาวางบนเครื่องฉายซึ่งตั้งอยู่หน้าชั้นเรียน ภาพที่ปรากฏบนจอเหมือนการใช้กระดานชอล์ก ซึ่งผู้สอนจะอธิบายประกอบการฉายก็ได้ สะดวกต่อการนำมาใช้ โดยทั่วไปจะมีคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องฉาย ดังนี้

1) ใช้สอนได้ทุกวิชา เพราะใช้แทนกระดานชอล์กได้
2) ห้องฉายไม่จำเป็นต้องควบคุมแสงสว่างมากนัก ห้องเรียนธรรมดาก็ฉายได้ ผู้เรียน สามารถเห็นภาพบนจอได้ชัดเจน
3) เครื่องฉายมีน้ำหนักเบา ใช้และบำรุงรักษาง่าย
4) สามารถตั้งไว้หน้าชั้นหรือที่โต๊ะบรรยาย เวลาสอนหรือบรรยาย ในขณะที่ใช้เป็นการ สะดวกในการสังเกตความสนใจของผู้เรียน เพื่อจะได้ปรับปรุงการสอนได้อย่างเหมาะสม
5) ประหยัดเวลาในการวาดรูปหรือเขียนคำอธิบาย เพราะผู้สอนสามารถวาด (หรือให้ผู้อื่นวาด) หรือถ่าย (เหมือนถ่ายเอกสาร) หรือเขียนบนแผ่นโปร่งใสมาก่อนล่วงหน้า เวลาใช้นำมาวางบนเครื่องฉายได้ทันที
6) สามารถแสดงการใช้แผ่นโปร่งใสให้เห็นเหมือนกับภาพเคลื่อนไหวได้ โดยใช้แผ่นโปร่งใสชนิดเคลื่อนไหวได้ (Motion or Polarized Transparency) วางบนเครื่องฉาย แล้วใช้กระจกตัดแสงอยู่ในกรอบกลม ๆ เรียกว่า Polarizing Filter หรือ Polaroid Spinner โดยเปิดสวิทซ์ให้กระจกตัดแสงหมุนใต้เลนส์ฉาย ภาพที่ปรากฏบนจอจะมีลักษณะเหมือนการเคลื่อนไหวได้ เช่น ภาพภูเขาไฟระเบิด การสูบฉีดโลหิต การทำงานของเครื่องจักรเครื่องยนต์ เป็นต้น
7) สามารถดัดแปลงการใช้แผ่นโปร่งใสจากการฉายครั้งละแผ่น เป็นการฉายครั้งละหลาย ๆ แผ่นซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่า Overlays
8) สามารถฉายวัสดุหรือเครื่องมือที่ทำด้วยวัสดุโปร่งใสได้ หรือวัสดุทึบแสงได้ ซึ่งจะให้ภาพเป็นภาพดำบนจอ ไม่แสดงรายละเอียดเหมือนวัสดุโปร่งใส จะเห็นเป็นเพียงรูปแบบของวัสดุ หรือเครื่องมือเท่านั้น
9) สามารถใช้แสดงการทดลองหรือสาธิต โดยนำวัสดุมาวางบนเครื่องฉายแผ่นโปร่งใส วางแผ่นโปร่งใสบนแท่งแม่เหล็ก โรยผงตะไบเหล็กบนแผ่นโปร่งใส แล้วเคาะแผ่นโปร่งใส ภาพของสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นบนแผ่นโปร่งใสจะปรากฏที่จอ

8.2.2 ส่วนประกอบของเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะโดยทั่ว ๆ ไป จะมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ผู้ใช้เครื่องควรจะ ทราบไว้ เพื่อสามารถใช้เครื่องฉายได้ถูกต้อง ดังนี้

1) หลอดฉาย (Projection Lamp) อยู่ภายในเครื่อง ทำหน้าที่ให้แสงสว่างมีกำลังส่องสว่างประมาณ 250-600 วัตต์ มีแผ่นสะท้อนแสงอยู่ภายในหลอด บางเครื่องอยู่ใต้หลอด ทำหน้าที่สะท้อนแสงจากหลอดฉายขึ้นไป ช่วยให้แสงมีความเข้มมากขึ้น
2) เลนส์เฟรสนัล (Fresnel Lens) เป็นเลนส์ชนิดพิเศษเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมมีร่องคล้ายแผ่นเสียง ทำหน้าที่เกลี่ยแสงจากหลอดฉายให้เสมอกันผ่านวัสดุฉายไปยังเลนส์ฉายพอดี
3) แท่นวางโปร่งใส (Platen) เป็นกระจกสำหรับวางแผ่นโปร่งใส ช่วยกรองความร้อนไม่ให้ผ่านมายังแผ่นโปร่งใสมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้แผ่นโปร่งใสเสียหายได้ อาจจะติดแผ่นกรองแสง (Glare Free) ใต้แท่นนี้ด้วยก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้มองแผ่นโปร่งใสได้สบายตาขึ้น
4) เลนส์ฉาย (Projection Lens) เป็นชุดของเลนส์นูน ทำหน้าที่รับแสงจากหลอดฉายซึ่งผ่านเลนส์เฟรสนัล ผ่านวัสดุฉาย และขยายภาพออกสู่จอ ที่ด้านบนของเลนส์ฉายจะมีกระจกเงาราบ ทำหน้าที่สะท้อนแสงจากแนวดิ่งให้กลับไปในแนวระดับสู่จอ สามารถยกให้สูงหรือต่ำได้เพื่อให้ภาพบนจอสูงขึ้นหรือต่ำลง
5) ปุ่มปรับความชัด (Focusing Knob) ใช้สำหรับหมุนเพื่อให้เลนส์ฉายเลื่อนขึ้นเลื่อนลง ทำให้ภาพบนจอมีความคมชัด
6) พัดลม (Fan) ทำหน้าที่ระบายความร้อนภายในเครื่อง เหมือนเครื่องฉายอื่น ๆ การทำงานของพัดลมในเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะบางชนิดใช้การควบคุมแบบเทอร์โมสตัท (Thermostat) คือ พัดลมจะทำงานเองเมื่อเครื่องเริ่มร้อน และจะหยุดทำงานเองเมื่อเครื่องเย็นลง
7) สวิทซ์สำหรับเปิดปิดหลอดฉาย บางเครื่องมีปุ่มสำหรับหรี่และเพิ่มความสว่างของหลอดฉายได้ด้วย 8) ปุ่มสำหรับเปิดฝาเวลาเปลี่ยนหลอด

เทคนิคในการใช้เครื่องฉายการผลิตและการนำเสนอแผ่นโปร่งใส

การใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะง่ายกว่าเครื่องฉายชนิดอื่น เพราะไม่มีระบบที่ยุ่งยากข้อเสนอแนะวิธีใช้ดังนี้

1) เสียบปลั๊กไฟตามระบบไฟของเครื่องฉาย
2) วางแผ่นโปร่งใสที่ต้องการฉายบนแท่นวาง การวางแผ่นโปร่งใสลงบนแท่น วางให้วางในลักษณะที่ผู้ใช้เห็นหรืออ่านได้ตามปกติ นั่นก็คือหันด้านหัวของแผ่นโปร่งใสเข้าหาผู้เรียน แล้ววางหรือเขียนบนแผ่นโปร่งใสตามต้องการ 3
) เปิดสวิทซ์หลอดฉาย จะเห็นภาพหรือข้อความบนจอ ปรับความชัดของภาพ โดยหมุนปุ่มปรับความชัดให้เลนส์เลื่อนขึ้นลง จอภาพบนจอมีความคมชัดดี
4) ถ้าต้องการให้ภาพมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้เลื่อนเครื่องฉายออกห่างจากจอ (ปิดหลอดฉายก่อน ถ้าไม่ปิดหลอดฉายให้ยกเครื่องฉายด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เครื่องฉายสะเทือน) ถ้าภาพล้นจอให้เลื่อนเครื่องฉายเข้าหาจอ
5) ถ้าภาพไม่ตรงจอคือสูงหรือต่ำไป ให้ยกเลนส์ฉายหรือกระจกเงาราบบนเลนส์ฉาย ให้เห็นภาพบนจอพอดี ไม่ควรใช้มือถูกเลนส์ฉายและกระจกเงา จะทำให้สกปรก ภาพไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
6) ในขณะที่ใช้ควรขี้ส่วนตัวของข้อความหรือภาพโดยใช้เครื่องใช้หรือพื่อให้มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้ดู
7) เมื่อเลิกฉายปิดสวิทซ์หลอดฉาย พัดลมจะยังหมุนอยู่เพื่อระบายความร้อน เมื่อเครื่องเย็นพัดลมจะหยุดเอง แล้วจึงถอดปลั๊กไฟ เก็บเครื่องเข้าที่ให้เรียบร้อย

8.2.4 เทคนิคการผลิตแผ่นโปร่งใส ปัจจุบันมีวิธีการผลิตนิยมโดยทั่วไป ดังนี้
1) ผลิตโดยการเขียน ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ปากกาสำหรับเขียนแผ่นใส โดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งแบบชั่วคราว (ล้างออกได้ด้วยน้ำ) และแบบถาวร (ล้างออกได้ด้วยทินเนอร์) ปากกาที่ใช้ควรมีขนาดที่เขียนแล้วอ่านง่าย โดยทั่วไปนิยมใช้ปากกาเบอร์ M
2) ผลิตโดยการถ่ายเอกสาร ใช้แผ่นโปร่งใสชนิดถ่ายกับเอกสาร โดยนำต้นฉบับที่เป็น ขาว-ดำ มาถ่ายลงเช่นเดียวกับถ่ายเอกสารบนกระดาษ
3) ผลิตโดยวิธีไดอะไซ ใช้ฟิล์มไดอะไซ สร้างภาพจากต้นฉบับ
4) ผลิตโดยการทำซิล์คสกรีน การทำโดยสกรีนสีบนแผ่นใส สีที่นำมาพิมพ์ต้อง เป็นสีโปร่งแสงเท่านั้น
5) ผลิตโดยใช้ฟิล์ม ไฮ-คอนทราส ใช้กระบวนการห้องมืด เพื่อสร้างภาพโดยภาพที่ได้เป็น ขาว-ดำ และนำมาตกแต่งสีภายหลัง
6) ผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็นการผลิตโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Power Point, Authorware, Photoshop เป็นต้น สามารถทำได้สวยงาม สะดวก และมีคุณภาพดีกว่าวิธีอื่น ๆ

ข้อเสนอแนะในการใช้เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ

ข้อเสนอแนะในการใช้เทคนิคเหล่านี้ มีวิธีการประกอบการใช้เพื่อให้การใช้แผ่นโปร่งใส เกิดประสิทธิภาพต่อผู้พูดและผู้ใช้ ดังนี้
1) อย่ายืนบังภาพที่ปรากฏบนจอ โดยพยายามตั้งเครื่องฉายและจอให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสม และวางแผนตำแหน่งในการยืนของผู้ใช้ต่อหน้าผู้ฟัง หรือผู้เรียนที่เหมาะสมด้วย
2) วางแผ่นใสลงบนแท่นเครื่อง ก่อนเปิดเครื่องฉาย
3) พยายามให้ภาพและเสียงสัมพันธ์กัน กล่าวคือ เมื่อเปิดเครื่องฉายที่มีภาพ ปรากฏ อยู่ก็ควรเริ่มต้นอธิบายหรือบรรยาย อย่าปล่อยให้มีแต่ภาพอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน เพราะจะไม่ช่วยให้ผู้ดูเกิดความคิดรวบยอดที่สัมพันธ์กัน
4) ใช้สายตาให้ประสานกับผู้ดูในขณะที่ใช้เครื่องฉายด้วย
5) อย่าอ่านข้อความจากแผ่นโปร่งใส ควรทำโน้ตเพื่อช่วยบรรยายเพิ่มเติมโดย อาจเขียนลงบนกรอบกระดาษของแผ่นโปร่งใสนั้น ๆ เพื่อช่วยให้เรื่องราวรายละเอียดเพิ่มเติม จะน่าสนใจยิ่งขึ้น
6) เมื่อปิดเครื่องฉายแล้วยังมีการบรรยายต่อ ให้ปรับเพิ่มความดังของการพูดให้มากขึ้นกว่าปกติสักเล็กน้อย เนื่องจากเสียงพัดลมของเครื่องฉายจะทำให้ลดความชัดเจนของการพูดตามปกติได้
7) จัดแผ่นโปร่งใสที่ใช้แล้ว และยังไม่ใช้ออกไว้แยกจากกัน เพื่อให้การใช้เป็นไปอย่างมีระเบียบ และไม่สับสน
8) ควรปิดเครื่องฉายทุกครั้งที่ไม่ต้องการให้มีภาพบนจอ หรือจบการบรรยาย และปลดสวิทซ์ออกจากเต้าเสียบ หลังจากหยุดฉายไม่ต่ำกว่า 2-5 นาท

เครื่องฉายภาพทึบแสงและวิธีการใช้

เครื่องฉายภาพทึบแสง เป็นเครื่องฉายระบบฉายสะท้อน (Reflected Projection System) ใช้ฉายภาพทึบแสงได้ทุกชนิด นอกจากจะใช้ฉายภาพทึบแสงได้แล้ว วัสดุตัวอย่างหรือของจริงอื่น ๆ ก็สามารถนำมาฉายให้ดูรายละเอียดได้เช่น ใบไม้ ลายผ้า แร่ หิน เหรียญ เป็นต้น เหมาะสำหรับที่จะนำภาพหรือวัสดุขนาดเล็กมาให้เห็นพร้อมกันทั้งชั้นเพราะสามารถขยายให้มีขนาดใหญ่ได้ และมีสีสันเหมือนของจริง แต่ต้องใช้ในห้องที่มีความมืดมากกว่าเครื่องฉายชนิดอื่น

8.3.1 ส่วนประกอบของเครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายภาพทึบแสงมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1) หลอดฉาย (Projection Lamp) เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง โดยทั่วไปจะมีกำลังส่องสว่างถึง 1,000 วัตต์ มีขนาดใหญ่กว่าหลอดฉายของเครื่องฉายอื่น ๆ
2) แผ่นสะท้อนแสง (Reflector) อยู่หลังหลอดฉายมีขนาดใหญ่เช่นกัน เพื่อช่วยสะท้อนแสงจากด้านหลังให้มาตกกระทบที่วัสดุฉาย เป็นการเพิ่มความเข้มของแสงสว่างให้กับหลอดฉายอีกส่วนหนึ่งด้วย
3) กระจกเงา (Secondary Mirror) ทำหน้าที่สะท้อนแสงเหมือนแผ่นสะท้อนแสง เพื่อเพิ่มความเข้มของแสงให้ไปตกกระทบวัสดุฉายให้มากที่สุด
4) กระจกเงาราบ (Reversing Mirror) อยู่ด้านบนสุดของเครื่องทำมุม 45 องศา ทำหน้าที่สะท้อนภาพหรือวัสดุฉายออกไปสู่เลนส์ฉาย เพื่อให้ภาพปรากฏบนจอ
5) เลนส์ฉาย (Projection Lens) ประกอบด้วยเลนส์นูน 2 ตัว เลนส์เว้า 1 ตัว ติดตั้งอยู่ในกระบอกเลนส์ทำหน้าที่รวมแสงให้มีความเข้มมากขึ้น และทำหน้าที่ปรับความชัดของภาพที่ไปปรากฏบนจอ
6) ลูกศรกระจก (Optical Pointer) ใช้สำหรับฉายภาพลูกศรออกไปสู่จอ สำหรับชี้อธิบายส่วนต่าง ๆ ของภาพ เป็นความสะดวกต่อผู้สอนโดยไม่ต้องใช้วัสดุอื่นใดชี้ภาพบนจอขณะอธิบาย
7) แท่นวางวัสดุ (Platen) สำหรับวางวัสดุที่จะฉาย บางเครื่องมีแผ่นกระจกกรองความร้อนสำหรับทับวัสดุฉายให้เรียบ ช่วยกันไม่ให้ภาพที่ใส่เข้าไปถูกความร้อนมาก อาจทำให้วัสดุฉายหงิกงอหรือไหม้เกรียมได้ บางเครื่องมีที่หมุนด้วยมือสำหรับหมุนวัสดุฉายเป็นชุดโดยไม่ต้องใส่หลายครั้ง
8) ปุ่มปรับความชัดของเครื่องฉาย (Focusing Knob) ใช้หมุนบังคับเลนส์ให้เลื่อนเข้าออก เพื่อปรับความชัดของภาพบนจอ นอกจากนี้ยังมีระบบระบายความร้อนเหมือนเครื่องฉายอื่น ๆ โดยใช้พัดลมเป่าระบายความร้อนของหลอดและภายในเครื่อง เพื่อให้หลอดฉายมีอายุการใช้งานได้ตามปกติ และยังช่วยไม่ให้วัสดุฉายไหม้ได